บริษัท ขนส่ง จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2473 จัดตั้งโดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในชื่อบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด โดยเป็นผู้บุกเบิกริเริ่มการบินพาณิชย์ในประเทศเป็นรายแรก และเดินรถยนต์โดยสารสายกรุงเทพฯ – ลพบุรี กรุงเทพฯ – ปราจีนบุรี ต่อมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเป็นรัฐวิสาหกิจและเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ขนส่ง จำกัด” (บขส.) เมื่อปี พ.ศ. 2481
ปี พ.ศ. 2490 รัฐบาลแยกกิจการการบินภายในประเทศออกจากบริษัทฯ ต่อมาปี พ.ศ. 2491 บริษัทฯ เริ่มกิจการเดินเรือโดยมีเรือทั้งสิ้น 48 ลำ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2500 มีกิจการเดินเรือทั้งสิ้นจำนวน 18 สายและมี 4 สาขา คือ สาขาท่าเตียน สาขาปากน้ำโพ – นครสวรรค์ สาขาแปดริ้ว และสาขาอยุธยา อย่างไรก็ตามการสร้างเขื่อนชัยนาททำให้แม่น้ำเจ้าพระยาบางตอนตื้นเขิน ทำให้การเดินเรือไม่สะดวก บริษัทฯ จึงเลิกเดินเรือในปีนั้นเอง ช่วงเวลาดังกล่าวราชการยังมิได้ดำเนินการควบคุมหรือจัดระเบียบการเดินรถโดยสารประจำทางของประเทศ การเดินรถโดยสารระส่ำระสายมากโดยเฉพาะในต่างจังหวัด เนื่องจากการขับรถเร็วและแซงเพื่อแย่งผู้โดยสารทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอ จึงมีการแสวงหาการคุ้มครองกิจการตนเองจากผู้มีอิทธิพล ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ในปี 2502 รัฐบาลในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมอบสัมปทานเส้นทางเดินรถโดยสารหมวด 2 ในเขตสัมปทาน 25 จังหวัดให้ บริษัท ขนส่ง จำกัด แต่เพียงรายเดียว อีกทั้งมอบหมายให้เป็นแกนกลางในการนำรถโดยสารของเอกชนเข้ามาร่วมกับบริษัทฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบการเดินรถโดยสารให้เป็นระเบียบและเป็นธรรมแก่เจ้าของรถโดยสารทุกรายที่เข้าร่วม ทั้งนี้เพื่อควบคุมดูแลเจ้าของรถโดยสารให้บริการที่ดีแก่ประชาชน
ระหว่างปี พ.ศ. 2502 – 2511 บริษัท ขนส่ง จำกัด พยายามชักจูงบริษัทเดินรถโดยสารเอกชนรายใหญ่เข้าสู่ระบบรถร่วม โดยให้ดำเนินการเดินรถอยู่ในกฎข้อบังคับของทางราชการภายใต้เครื่องหมายของบริษัทฯ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหารถโดยสารผิดกฎหมายได้ แม้ในช่วงแรกบริษัทฯ ยังไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐที่ได้รับมอบหมายและประสบผลการขาดทุนอย่างหนักระหว่างปี พ.ศ. 2502 ถึงปี พ.ศ. 2504 อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ พยายามปรับปรุงทั้งด้านการบริหารจัดการภายในและการให้บริการ จนกระทั่งผลการดำเนินงานเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ถึง 2516 ทำให้มีผลการดำเนินงานดีขึ้นจนสามารถจ่ายโบนัสได้เป็นครั้งแรก
ระหว่างปี พ.ศ. 2522 ถึง 2531 เป็นช่วงที่บริษัทฯ จัดระเบียบการเดินรถโดยสารของบริษัทฯ และรถร่วมพร้อมกับให้เกิดความเป็นธรรม ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันของเจ้าของรถโดยสารรายย่อยตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่ม แต่ละเส้นทาง และแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นผลให้ผู้ประกอบการรถร่วมมีการรวมตัวกันอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2523 ในนามของสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์โดยสาร
ปี พ.ศ. 2510 บริษัทฯ ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณตลาดหมอชิต ถนนพหลโยธิน โดยเป็นอาคาร 3 ชั้น บนเนื้อที่ 63 ไร่ และเป็นที่ทำการของสำนักงานใหญ่ โดยผู้โดยสารจะเรียกกันคุ้นหูว่า สถานีขนส่งหมอชิต
ปี พ.ศ. 2540 บริษัทฯ เปิดใช้อาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 อย่างเป็นทางการ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 999 ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร โดยย้ายที่ทำการของสำนักงานใหญ่และสถานีขนส่งผู้โดยสารมาไว้รวมกัน เป็นอาคาร 4 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 27,000 ตารางเมตร ออกแบบได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
ปี พ.ศ. 2542 “เรือมหาราช” เรือลำสุดท้ายในกิจการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาสมัยอดีตของบริษัทฯ ได้มอบให้กระทรวงศึกษาธิการเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบ 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 เพื่อเป็นการสนองแนวพระราชดำริ มีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรของพระองค์ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง บริษัทฯ จึงถือโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ร่วมกับกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำโครงการเรือห้องสมุดเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายเป็นพระราชสักการะและเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมให้ประชาชนรักการอ่านและการเรียนรู้ โดยพิธีส่งมอบจัดขึ้น ณ อู่กัปตัน เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เมื่อวันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2542
ปี พ.ศ. 2546 บริษัท ขนส่ง จำกัด มีแผนขยายเส้นทางเดินรถข้ามประเทศไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้า การลงทุน ที่รัฐบาลหมายจะให้ไทยเป็นประตูสู่อินโดจีน ในปี 2547 เริ่มเปิดให้บริการรถโดยสารระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว เส้นทางหนองคาย – นครหลวงเวียงจันทน์ และเส้นทางอุดรธานี – นครหลวงเวียงจันทน์ หลังจากนั้นบริษัทฯ ได้เปิดเดินรถโดยสารระหว่างประเทศเพิ่มเติม ดังนี้ ปี 2548 เส้นทางที่ 3 สายอุบลราชธานี – ปากเซ ปี 2550 เส้นทางที่ 4 สายมุกดาหาร – สะหวันนะเขต ปี 2551 เส้นทางที่ 5 ขอนแก่น – นครหลวงเวียงจันทน์ ปี 2552 เส้นทางที่ 6 นครราชสีมา – นครหลวงเวียงจันทน์ ปี 2554 เส้นทางที่ 7 นครพนม – เมืองท่าแขก ปี 2555 เส้นทางที่ 8 เชียงใหม่ – หลวงพระบาง เส้นทางที่ 9 อุดรธานี – หนองคาย – วังเวียง เส้นทางที่ 10 กรุงเทพฯ – ปากเซ ส่วนขยายเส้นทางสายที่ 6 กรุงเทพฯ – นครหลวงเวียงจันทน์ และในปี พ.ศ. 2557 บริษัทฯ ได้เปิดเดินรถเพิ่มเติมอีก 2 เส้นทาง คือ เส้นทางที่ 11 เชียงราย – บ่อแก้ว เส้นทางที่ 14 เลย – หลวงพระบาง ในส่วนของประเทศกัมพูชา บริษัทฯ ได้ดำเนินการเปิดเดินรถไปแล้ว 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ – พนมเปญ กรุงเทพฯ – เสียมราฐ เพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) และบริษัทฯ ยังมีแผนการเดินรถโดยสารระหว่างประเทศเพิ่มเติมไปยังประเทศพม่าและประเทศเวียดนามอีกในอนาคตอันใกล้นี้
ปี พ.ศ. 2552 บริษัทฯ ได้ทำการปรับเปลี่ยนสัญลักษณ์ใหม่ของ บขส. ให้มีรูปแบบที่ทันสมัยยิ่งขึ้น จากปีกปรับมาใช้ลายเส้นการเคลื่อนไหว ทำให้สัญลักษณ์ บขส. ดูอ่อนโยน มีความเป็นกันเองใกล้ชิดลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ความหมายของสัญลักษณ์ใหม่ประกอบด้วยเส้น 3 สี
เส้นสีส้ม เป็นเส้นที่แสดงถึงรากฐานของสัญลักษณ์นี้ และสื่อถึงเส้นโค้งของรถบัส และเส้นสีส้มเป็นสีของ บขส. และมีความหมายว่า บขส. เป็นองค์กรในการให้บริการการขนส่งการเดินรถอย่างมั่นคงมาเป็นเวลานาน
เส้นสีฟ้า เป็นการสื่อถึงการพัฒนาต่อเนื่องและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเป็นสำคัญและการพัฒนาจากรถส้มมาเป็นรถปรับอากาศ
เส้นสีชมพู เป็นสีที่หมายถึงความเป็นมงคล สิ่งดีงาม สื่อถึง บขส. เป็นองค์กรที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างต่อเนื่อง ตัวหนังสือ บขส. สีส้มใช้รูปแบบตัวอักษรที่มีความหนา เพื่อสื่อถึงความหนักแน่น มั่นคง ขององค์กรแห่งนี้
ปี พ.ศ. 2553 เป็นอีกปีหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนั่นคือ บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล รับรถตู้โดยสารจำนวนประมาณ 6,000 คัน เข้าสู่ระบบรถร่วมฯ ทั้งนี้ ทำให้เกิดผลดีเพื่อควบคุมดูแลให้เจ้าของรถตู้โดยสารให้บริการที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น อันจะทำให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ
ปี พ.ศ. 2557 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) บริษัทฯ ได้ดำเนินการพัฒนาบริการเดินรถโดยสารระหว่างจังหวัดและระหว่างประเทศ รองรับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยจัดเส้นทางการเดินรถเส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงของ ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินรถที่เชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้บริษัทฯ ได้เพิ่มเส้นทางการเดินรถโดยสารระหว่างประเทศผ่านอำเภอเชียงของอีก จำนวน 2 เส้นทาง คือ เส้นทางเชียงใหม่ – เชียงราย – เชียงของ – หลวงพระบาง และเส้นทางเชียงราย – เชียงของ – บ่อแก้ว เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเดินทางของผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นบริเวณจังหวัดที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยบริษัทฯ ได้ก่อสร้างสถานีเดินรถเชียงของขึ้นบนพื้นที่จำนวน 4 ไร่ 1 งาน 71 ตารางวา ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ ห้องจำหน่ายตั๋ว ที่พักผู้โดยสาร ศูนย์อาหาร ร้านค้าสะดวกซื้อ ห้องสุขาสำหรับผู้โดยสาร พื้นที่อำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ สถานที่รับฝากพัสดุภัณฑ์ และอาคารบ้านพักสำหรับพนักงาน สามารถรองรับรถโดยสารประจำทางที่เข้ามาใช้บริการบริเวณสถานี ทั้งรถบริษัทฯ และรถร่วม
จากอดีตถึงปัจจุบัน บริษัทฯ สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่ราชการมอบหมายและเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการบริหารบริษัทฯ ในการให้บริการแก่ประชาชน นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2527 บริษัทฯ สามารถดำเนินกิจการประสบผลกำไรอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยคาดหมายว่าการบริหารจัดการและการบริการที่มุ่งเน้นปรับปรุงและพัฒนามาโดยตลอด จะส่งผลให้บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะรับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมั่นคงต่อไป
ปัจจุบัน สถานที่ทำการอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ ตั้งอยู่เลขที่ 999 ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
“บขส. เป็นของรัฐ ยืนหยัดเพื่อปวงชน ทุกคนเป็นเจ้าของ”