Skip to content
ช่องทางติดต่อ
(Contact channels)
Joint venture transport company limited
Joint venture transport company limited
โลโก้บริษัท ขนส่ง จำกัด

ระเบียบ และคู่มือรถร่วมบริษัทขนส่ง จำกัด
พุทธศักราช 2547
ทำเนียบรายชื่อ โทรศัพท์ บริษัทรถร่วมบริการ

เงื่อนไขและกฏระเบียบรถร่วม
     เนื่องจากรถร่วมให้บริการเดินรถภายใต้สัมปทานของ บขส. ดังนั้น จึงต้องมีข้อสัญญาที่กระทำ ขึ้นเพื่อระบุเงื่อนไขและกรอบความรับผิดชอบของผู้ให้สัญญา (บขส.) และผู้รับสัญญา (รถร่วม) ซึ่งจะเกี่ยวกับการเดินรถ การควบคุมดูแลพนักงาน ความรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่าย และค่าปรับในกรณีที่ผู้รับสัญญาละเมิดกฎระเบียบจราจรหรือกฏระเบียบที่ บขส. กำหนดไว้ อำนาจของ บขส. ตลอดจนเงื่อนไขการต่อสัญญาเป็นต้น

     การที่มีกฎระเบียบมากมายในการควบคุมการประกอบการเดินรถมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับข้อดีที่เห็นชัดคือการเดินรถที่เป็นระเบียบมากขึ้น ส่วนข้อเสีย เช่น ขั้นตอนมากเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องที่ไม่สุจริตทำการแสวงหา ผลประโยชน์อันมิพึงได้ การตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทำได้ล่าช้า ราคาค่าโดยสารไม่สะท้อนต้นทุน ทำให้ผู้ประกอบการต้องแสวงหาช่องทางลดต้นทุน ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของการให้บริการที่ต่ำลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความปลอดภัย

บทบาทและความสัมพันธ์ของ บขส. กับรถร่วม
      บขส. ได้รับเอกสิทธิ์ในสัมปทานการเดินรถหมวด 2 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 โดยรัฐบาลมุ่งหวังให้ บขส. เข้ามาจัดระเบียบการเดินรถโดยสารระหว่างจังหวัด ซึ่งในขณะนั้นมีอัตราการเจริญเติบโตและผลกำไรที่สูง เป็นเหตุให้มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงและใน บางครั้งส่งผลเสียแก่ผู้ใช้บริการ 

     จวบจนปัจจุบัน แม้ว่า บขส. จะมีเอกสิทธิ์ในรถหมวด 2 แต่การให้บริการรถโดยสารในหมวดนี้มีส่วนแบ่งตลาดเพียง 10% ที่เหลืออีก 90% เป็นส่วนของรถร่วมเอกชน ซึ่งจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ บขส. เพื่อให้ได้สิทธิ์ในการประกอบการเดินรถโดยสาร จากสัดส่วนข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมนี้มีการแปรรูปเป็นของเอกชนแล้วในทางปฏิบัติ แต่ในทางกฎหมายและระเบียบนั้น ยังถือว่า บขส. เป็นผู้รับผิดชอบในการเดินรถหมวด 2 แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นจึงเกิดความจำเป็นที่ บขส. จะต้องจัดการดูแลรถในสังกัด หรือ “รถร่วม” ตลอดช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 บขส. ได้ดำเนินการควบคุมและดูแลจัดระเบียบการเดินรถหมวด 2 ดังตารางข้างล่างนี้ 

ปี พ.ศ.
บทบาทหลัก ของ บขส.
2502-2511

   ชักจูงบริษัทเดินรถของเอกชนเข้าสู่ระบบรถร่วมเพื่อลดการแข่งขันรุนแรงระหว่างผู้ประกอบการอย่างไม่คำนึงถือความปลอดภัย

2512-2521

   บขส. แก้ไขปัญหารถโดยสารผิดกฎหมาย ซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงหลังสงครามเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถโดยสารปรับอากาศ

2522-2531

   จัด ระเบียบการเดินรถทั้งของบริษัทฯ และรถร่วม โดยเน้นการให้ความเป็นธรรมและการอยู่ร่วมกันในอุตสาหกรรมนี้ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยรวมตัวกันตามความเหมาะสมของเส้นทางและ ภูมิภาคที่เดินรถอยู่

2532-ปัจจุบัน

   บริหาร ระบบที่ได้สร้างไว้ โดยเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านมาตรฐานให้บริการในเส้นทางที่รถร่วมไม่ทำเพราะ ไม่มีกำไร กำหนดอัตราค่าโดยสารให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในยามจำเป็นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม และของชาติ โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์และกิจการทางทหาร

การให้สัมปทานรถร่วม
     บขส. จัดตั้งขึ้นเมื่อ 13 ก.ค.2473 ดำเนินการโดยบริษัทเดินอากาศ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการบินพาณิชย์ในไทย ได้จัดรถโดยสารวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ-ลพบุรีและปราจีนบุรี ต่อมาได้จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อปี 2481 ให้อยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคมในปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งการให้จัดระเบียบการขนส่งรถโดยสารประจำทางโดยมอบสัมปทานเส้นทางเดินรถระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดต่าง ๆ (หมวด 2) ให้ บขส.ทั้งหมด โดยกรมการขนส่งทางบกเป็นผู้พิจารณากำหนดอายุสัมปทานซึ่งกำหนดทุก ๆ 7 ปี และกำหนดค่าโดยสาร ตารางเดินรถ จำนวน ประเภทของรถ เส้นทางสถานีและจุดจอด ส่วน บขส. มีหน้าที่จัดระเบียบเดินรถให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าของรถร่วม เปิดโอกาสให้รถเอกชนมาร่วมวิ่งในเส้นทางตามที่กำหนด ซึ่งในบางเส้นทาง บขส. ได้ร่วมวิ่งด้วยผู้ประกอบการเอกชนต้องทำสัญญาเรียกว่า สัญญารถร่วม กับ บขส. ปัจจุบันมีรถร่วมอยู่ในความดูแลจำนวน 7 พันกว่าคัน โดยวิ่งใน 309 เส้นทางนอกจากนี้ บขส. เป็นเจ้าของสถานีขนส่ง ทั่วประเทศจำนวน 119 แห่ง สถานีเหล่านี้เป็นที่จอดรถโดยสารหลาย ๆ สายมาแวะจอดแต่ละสถานีมีห้องสุขและร้านอาหารไว้บริการ

    สัญญารถร่วม บขส.จัดอยู่ในประเภท Build-Transfer-Operate เอกชนเป็นผู้จัดหารถมาวิ่งเอง แต่ต้องโอนรถให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ บขส.ก่อน จึงจะสามารถดำเนินงานได้เจ้าของรถต้องพ่นสีตัวถัง ตราบริษัทขนส่ง หมายเลขประจำรถ ชื่อเส้นทาง ติดตั้งเก้าอี้นั่งผู้โดยสารตามที่ บขส.กำหนดให้เรียบร้อยก่อน โดยเจ้าของรถเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองแล้วจึงส่งมอบรถให้ บขส.

     เอกชนต้องจัดหาและจ้างพนักงานประจำรถ จัดหาช่างประจำเพื่อซ่อมรถที่โอนให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดีอยู่เสมอ ชำระค่าธรรมเนียม ค่าภาษี หรือค่าปรับต่าง ๆ และยินยอมให้ บขส.นำรถที่โอนไปประกันภัยชนิดบุคคลที่ 3 นอกจากนี้เอกชนต้องวางเงินค้ำประกัน สัญญาจำนวนหนึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของรถและวางหลักทรัพย์ค้ำประกันความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท ต่อรถ 1 คัน

     รถที่นำมาวิ่งต้องมีสภาพมั่นคงแข็งแรงมีอุปกรณ์และส่วนควบคุมถูกต้องตามกำหนดในกฎกระทรวง ผ่านการตรวจสภาพมีใบอนุญาตให้ใช้รถยนต์ของกรมการขนส่งทางบกและใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางระหว่างจังหวัด ส่วนมาตรฐานของรถต้องเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด เช่น ถ้าเป็นรถปรับอากาศชั้น 1 ต้องมีห้องสุขา บริการอาหารเครื่องดื่ม และพนักงานต้อนรับประจำรถ มีอุปกรณ์ให้เสียงประชาสัมพันธ์และที่เก็บสัมภาระ ถ้าเป็นรถปรับอากาศชั้น 2 จะไม่มีบริการห้องสุขา อาหารและเครื่องดื่ม

     สำหรับการแบ่งรายได้ให้ บขส. ใช้เกณฑ์ดังนี้คือ ผู้ประกอบการต้องส่งรายได้เป็นจำนวนเงินเท่ากับอัตราค่าโดยสาร 1 คนต่อ 1 เที่ยวที่กำหนดในเส้นทางนั้น ๆ โดยจ่ายให้ บขส. เป็นรายวัน ส่วนการเดินรถนั้น บขส.เป็นผู้รับผิดชอบควบคุมการเดินรถโดยมีข้อปฏิบัติดังนี้
– เอกชนต้องไม่นำรถผู้อื่นมาร่วมวิ่งบนเส้นทาง
– ถ้าไม่นำรถมารับผู้โดยสาร โดยไม่ได้แจ้ง บขส. ล่วงหน้าก่อนกำหนดเวลาออกรถ 6 ชั่วโมง ต้องเสียค่าปรับวันละ 100 บาทต่อคัน ถ้าไม่นำรถมาวิ่งในเส้น ทางติดต่อกันเกิน 7 วัน บขส.ปรับวันละ 200 บาท จนกว่าจะนำรถมาวิ่งหรืออาจให้พักรถหรือเลิกสัญญา
– กรณีเอกชนนำรถไปใช้ในกิจการอื่นต้องแจ้งล่วงหน้า 3 วัน ถ้าไม่แจ้งต้องจ่ายค่าเสียหายให้ บขส. เป็นเงิน 500 บาทต่อวัน แต่รถที่ได้แจ้งและ บขส.อนุญาตก็ต้องเสียค่าชดเชยแก่ บขส.ด้วย ในอัตราที่กำหนดตามประเภทของรถ เช่น รถปรับอากาศต้องจ่ายวันละ 200 บาท เป็นต้น
– กรณีมีความเสียหายเกิดขึ้นในเส้นทางและผู้เสียหายได้ฟ้องร้อง บขส.เอกชนต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายนั้น โดย บขส.มีอำนาจยึดรถไว้จนกว่าเอกชนจะชดเชยความเสียหายแก่บุคคลอื่นเสียก่อนหรืออาจขายรถเพื่อนำเงินไปชดใช้ค่า เสียหายได้ถ้ามีเงินเหลือหลังจากการชดใช้แล้ว บขส.จะคืนให้ผู้ประกอบการ
– ผู้ประกอบการต้องควบคุมพนักงานประจำรถให้ปฏิบัติตามระเบียบ หากพนักงานมีความประพฤติไม่เหมาะสม และได้แจ้งให้ผู้ประกอบการทราบแล้ว ต้องเปลี่ยนตัวพนักงานทันที ไม่เช่นนั้น บขส. อาจจัดพนักงานของ บขส. มาทำหน้าที่แทนโดยผู้ประกอบการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงานที่ บขส. จัดหามา

     เมื่อใกล้วันครบสัญญา ถ้าจะต่อสัญญาอีกต้องแจ้ง บขส. ก่อนครบสัญญา 60 วัน ถ้าไม่แจ้งถือว่าไม่ต้องการต่อสัญญา เมื่อสัญญาสิ้นสุดผู้ประกอบการต้องลบตราบริษัทขนส่ง หมายเลขสาย และหมายเลขข้างรถ โดยผู้ประกอบการออกค่าใช้จ่ายเองให้เรียบร้อยก่อน บขส. จึงจะโอนรถคืนให้ผู้ประกอบการพร้อมทั้งการพิจารณาในเรื่องหลักประกันสัญญาและหลักทรัพย์ค้ำประกันความเสียหาย

     รถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดแบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ หมวด 2 จะวิ่งบริการระหว่าง กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด โดยรถ บขส.และรถร่วมเอกชน ส่วนหมวด 3 และ 4 เป็นรถโดยสารระหว่างจังหวัด (ไม่ผ่านกรุงเทพฯ) และอำเภอ ซึ่งบริการโดยรถร่วมเอกชน

Copyright © 2024 Transport Co., Ltd.
© 2024 Transport Co., Ltd.
USEFUL LINKS

Site map

Press release

Contact

Total Visitors : 10443
Edit Template

บริษัท ขนส่ง จำกัด © 2024